ZeroMoment Refillery

 

ZeroMoment Refillery ขอโทษที สินค้าร้านนี้ไม่มีบรรจุภัณฑ์

Highlights

  • zero waste คือแนวคิดการใช้ชีวิตโดยไม่สร้างขยะ ลดการใช้ทรัพยากร เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
  • ร้าน ZeroMoment Refillery คือร้านขายของกิน-ของใช้ในครัวเรือนที่ปราศจากบรรจุภัณฑ์ โดยให้ทุกคนนำภาชนะมาเองจากบ้านเพื่อสนับสนุนแนวคิดลดขยะ ก่อตั้งโดย เมี่ยว–ฤดีชนก จงเสถียร
  • สินค้าในร้านล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน และมีจุดแข็งคือการเลือกซื้อได้ในปริมาณที่ต้องการ

1

ในวันที่ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลง และสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนจากขยะที่ไม่ถูกย่อยสลาย เกิดเป็นแรงผลักดันให้หลายคนตั้งคำถามกับรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ยังมีอยู่

หนึ่งในคำตอบเหล่านั้นคือแนวทางการใช้ชีวิตแบบ zero waste หรือการใช้ชีวิตที่มีเป้าหมายให้ไม่เกิดขยะ ซึ่งการลงมือทำที่สามารถเห็นได้ในบ้านเราก็มีตั้งแต่การใช้ถุงผ้าแทนการรับถุงพลาสติก การไม่รับหลอด พกแก้วน้ำ พกช้อนส้อม กล่องข้าวหรือปิ่นโต จับจ่ายใช้สอยเท่าที่จำเป็น ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และอีกหลากหลาย

แต่สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ค่อยได้ คือบรรจุภัณฑ์

ในแต่ละครัวเรือน เรามีหีบห่อ ขวด หรือภาชนะจำนวนมากโดยที่เราไม่รู้ตัว เริ่มตั้งแต่ในครัวที่มีขวดซอสและเครื่องปรุงนับสิบ ถุงแป้ง ถุงข้าวสาร ขวดน้ำยาล้างจาน หรือในห้องน้ำที่มีขวดแชมพู สบู่ โฟมล้างหน้า ไปจนถึงน้ำยาล้างห้องน้ำ เมื่อใช้อะไรหมด เราก็ซื้อสินค้าเดิมในบรรจุภัณฑ์ใหม่ ส่วนภาชนะเก่าก็กลายเป็นขยะไป

2

ZeroMoment Refillery คือร้านขายสินค้าของกินของใช้ในครัวเรือนที่ลูกค้าต้องพกพาบรรจุภัณฑ์มาเองเพื่อลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ โดยมีสินค้าที่หลากหลายตั้งแต่อาหารแห้ง ข้าวสาร เส้นสปาเกตตี เครื่องเทศ ชา กาแฟ ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ไปจนถึงขนมขบเคี้ยว ที่ เมี่ยว–ฤดีชนก จงเสถียร ก่อตั้งขึ้นและเริ่มเปิดให้บริการในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

“เราเห็นร้านที่ตอบโจทย์การมีไลฟ์สไตล์แบบนี้ในยุโรปแล้วรู้สึกชอบ สนใจ เพราะแม้จะดูเหมือนยุ่งยาก แต่ทุกคนเข้ามาใช้งานในร้าน พกภาชนะกันมาเองเป็นเรื่องปกติ ในไทยเราเองก็มีคนที่มองหาทางเลือกแบบนี้อยู่ แต่ยังไม่มีร้านแบบนี้แพร่หลายในไทย”

ตั้งแต่ได้ไอเดียในการทำร้าน เมี่ยวใช้เวลา 6 เดือนในการค้นคว้าข้อมูลสินค้าที่จะจำหน่าย โดยมีเกณฑ์การคิดจากสิ่งที่จำเป็นต้องใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน

“พวกน้ำยาเราจะขอซื้อมาในปริมาณมาก ซอสก็เช่นเดียวกัน ใส่แกลลอน ส่วนของแห้ง เครื่องปรุง ก็ติดต่อเกษตรกรโดยตรง เน้นเป็นคนที่ทำเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิก แต่ยังมีราคาที่เหมาะสม ถ้าเทียบสินค้าของที่นี่กับสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีคุณภาพเท่ากัน ของเราราคาต่ำกว่าเพราะไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องบรรจุภัณฑ์”

3

ขั้นตอนการเข้ามาใช้บริการที่นี่ก็ง่ายๆ เริ่มจากเดินไปที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ ชั่งน้ำหนักของภาชนะที่นำมาแต่ละชิ้น จากนั้นก็ไปตัก ตวง รินสินค้าที่ต้องการ เขียนรหัสสินค้าลงบนภาชนะ (ที่นี่ใช้ปากกาแบบลบออกได้ ไม่ต้องกลัวว่าขวดจะเป็นรอย) แล้วนำไปชั่งน้ำหนัก เมี่ยวจะทำการหักลบน้ำหนักของภาชนะ แล้วคิดราคาสินค้าออกมาตามจริง หรือหากใครยังไม่มีภาชนะเป็นของตัวเอง ก็สามารถเลือกซื้อขวดโหลแก้วขนาดต่างๆ ตักสินค้ากลับบ้านได้ ซึ่งแต่ละโหลถูกทำความสะอาดมาแล้วเรียบร้อยพร้อมใช้

“ครั้งแรกคนจะแวะมาดูก่อนว่าเป็นร้านอะไร ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าใหม่ ต้องใช้เวลาให้ข้อมูลกับเขาพอสมควร พออธิบายให้เขาเข้าใจแล้วก็จะค่อยเอาภาชนะมาซื้อในครั้งที่สอง”

เมี่ยวบอกเราว่า สิ่งที่สำคัญของการซื้อสินค้าที่นี่คือ ทุกคนสามารถซื้อได้ในปริมาณที่ตัวเองต้องการ ครอบครัวเล็กๆ ก็ซื้อนิดเดียวได้ ต่างจากเวลาไปซื้อตามห้างที่อาจจะต้องการใช้แค่นิดเดียว แต่ต้องจ่ายเงินซื้อเกินความจำเป็น

ราคาถูกสุดที่ลูกค้าจ่ายคือเท่าไหร่ เราถาม

“2 บาท ซื้อซอสปรุงรสไปทำกับข้าวมื้อหนึ่ง” เมี่ยวหัวเราะ

4

“ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากมีร้านแบบนี้ให้บริการในหลายพื้นที่ที่สะดวกยิ่งขึ้น แต่ตอนนี้อยากทำร้านนี้ให้เต็มที่ก่อน”

หญิงสาวอธิบายกับเราว่า แม้จะเปิดร้านได้แล้วแต่ก็ยังต้องพัฒนาอยู่เรื่อยๆ จากเสียงตอบรับของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในร้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการให้บริการ เช่น การไหลของน้ำยาในแกลลอน หรือตาชั่งที่แต่เดิมมีแค่บริเวณแคชเชียร์ แต่ลูกค้าอยากตักไปชั่งไปจนเธอหามาเพิ่มให้ หรือด้านสินค้าที่ยังไม่มีให้บริการแต่เป็นที่สนใจของลูกค้า เช่น แป้งสาลี น้ำมันมะพร้าว ข้าวโอ๊ต ที่อีกไม่นานจะมีวางในร้านแน่นอน

“สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการรักษาคุณภาพของสินค้า เพราะเราต้องการให้เขาไม่รู้สึกว่าการใช้บริการที่นี่ต่างกับการไปซื้อของในห้าง ของมีคุณภาพ มีความหลากหลาย ถ้าทำตรงนี้ได้ คนก็น่าจะยินดีลองมีไลฟ์สไตล์แบบ zero waste”

ก่อนจะมาเปิดร้านนี้ เมี่ยวเล่าให้ฟังว่าเธอเคยเป็นพนักงานออฟฟิศที่แม้จะสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และพยายามงดรับถุง พกแก้ว แต่เธอก็เข้าใจว่าชีวิตของทุกคนมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน และการใช้ชีวิตแบบ zero waste ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่เส้นทางที่ทำได้ง่าย

ช่วงเวลาในการจับจ่ายที่ต้องพกภาชนะมาซื้อของนั้นเกิดจากการวางแผน เตรียมตัวคิดมาก่อนว่าจะซื้ออะไรบ้าง เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราจะไม่สร้างขยะ นั่นคือ zero moment ในแต่ละวัน และเป็นที่มาของชื่อร้านแห่งนี้

“เราไม่ได้บอกว่าคุณต้องรักษ์โลก ห้ามสร้างขยะเลย เพราะมันคงเป็นไปไม่ได้ แต่อย่าให้มันมาเป็นข้ออ้างเพื่อจะไม่ทำเลย แค่เราคิดก่อนใช้ เริ่มทำในสิ่งที่ทำได้ ทำทุกวันสะสมไปนิดๆ หน่อยๆ เดี๋ยวก็จะเป็น zero ที่ยาวนานขึ้น”

การเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมี่ยวเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนเริ่มต้น เราเชื่ออย่างนั้น

ขอบคุณเรื่องราวดีๆจาก adaymagazine ครับ

ขอบคุณ ร้าน Zero Monent Refillery ที่ไว้ใจใช้ตู้แช่จากร้านเดอะ เมเปิ้ลครับ ^_^

Visitors: 112,640