Praya Palazzo

เมื่อสิบกว่าปีก่อน เวลาไปนั่งเล่นที่สวนสันติชัยปราการ ผมชอบทอดสายตาข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปมองบ้านเก่าริมน้ำฝั่งตรงข้าม

เห็นแล้วก็สงสัยว่าเป็นบ้านใคร แล้วก็สงสัยขึ้นไปอีกว่าทำไมบ้านสวยๆ ถึงถูกปล่อยให้ทิ้งร้างอย่างนี้

วันหนึ่งผมก็พบคำตอบว่าบ้านหลังนี้เดิมทีชื่อ ‘บ้านบางยี่ขัน’

เมื่อพบข้อมูลดังนั้น ผมจึงรีบสอบถามญาติๆ ว่า ครอบครัวเรามีส่วนอะไรกับบ้านหลังนี้บ้างหรือเปล่า

น่าเสียใจที่ นายทรงกลด บางยี่ขัน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับ บ้านบางยี่ขัน

ขออนุญาตเสียใจอีกบรรทัด

แต่ก็น่าดีใจที่หลายปีต่อมาบ้านหลังนี้ได้รับการบูรณะจนกลายมาเป็น พระยา พาลาซโซ (Praya Palazzo) โรงแรมสุดสวยที่สถาปนิกพลิกฟื้นให้อาคารหลังนี้กลับมามีชีวิตแบบเดิมอีกครั้ง

ไม่นานมานี้โรงแรมแห่งนี้เปลี่ยนมือมาสู่เครือมนทาระ ซึ่งโด่งดังจากการทำโรงแรมตรีสราที่ภูเก็ต

หลังจากปิดปรับปรุงไปหลายเดือน ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พระยา พาลาซโซ ก็กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

โรงแรมแห่งนี้ไม่ติดถนน ต้องเดินทางด้วยเรือเท่านั้น ที่นี่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และของเก่าๆ แต่มีวิธีคิดในการบริหารงานแบบใหม่ที่น่าสนใจมาก

 

01 สร้างบ้าน

เจ้าของบ้านบางยี่ขันคนแรกคือ พระยาชลภูมิพานิช

บ้านหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2466 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระยาชลภูมิพานิชมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพราชการ ได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์โท และมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชลภูมิพานิช รวมถึงได้รับพระราชทานนามสกุล ‘อเนกวณิช’

บ้านบางยี่ขันสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมพาลาดิโอ (Palladio) ซึ่งได้รับความนิยมในประเทศไทยต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าและการติดต่อกับชาวตะวันตกในยุคนั้น

แล้วพระยาชลภูมิพานิชคือใคร

ท่านเป็นขุนนางและคหบดีเชื้อสายจีนผู้มั่งคั่ง เริ่มต้นรับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ในกรมท่าซ้าย กระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดเก็บรายได้จากเรือสินค้าที่เดินเรือผ่านทะเลอ่าวไทยเข้ามาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่เรือจากจีน จาม (กัมพูชา) และญวน (เวียดนาม)

อธิบายเผื่อคนสงสัยต่ออีกนิดว่า กรมท่าขวาทำหน้าที่ติดต่อเรือสินค้าทางฝั่งอันดามัน ได้แก่ แขก ฝรั่ง อาหรับ เปอร์เซีย

การค้าขายส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเป็นการค้าช่วง คือรับสินค้าจากโลกตะวันออกโดยเฉพาะจากเมืองจีนไปขายยังทวีปอื่น ทำให้ขุนนางเชื้อสายจีนสมัยนั้น รวมถึงบุตรหลานคหบดีชาวจีนที่ได้ร่ำเรียนด้านการค้าจากเมืองจีน เช่น นายไต้ตั้ด (นามเดิมของพระยาชลภูมิพานิช) ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้มีบทบาทสำคัญทั้งทางด้านการค้า และการเมืองการปกครองของประเทศ

พระยาชลภูมิพานิชสมรสกับนางสาวส่วน (สกุลเดิม อุทกภาชน์) นางข้าหลวงคนโปรดในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งได้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ศึกษาศิลปะ วิชาการ และคุณสมบัติแห่งความเป็นกุลสตรี ในราชสำนักมาตั้งแต่เด็ก

พระยาชลภูมิพานิชรักนางส่วนตั้งแต่แรกเห็น เมื่อครั้งที่เธอออกจากกำแพงพระบรมมหาราชวังกลับไปเยี่ยมบิดามารดาที่บ้าน เมื่อความทราบถึงเบื้องสูง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ จึงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ทั้งสองได้สมรสกัน

หลวงชลภูมิพานิช (ยศในขณะนั้น) และนางส่วนในวัย 20 ปี ได้ย้ายมาพักที่บ้านบางยี่ขันริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคาดว่าออกแบบโดยสถาปนิกต่างชาติ และน่าจะเป็นสถาปนิกพระราชทาน

คุณหญิงส่วนเป็นภรรยาเพียงคนเดียวของพระยาชลภูมิพานิช ทั้งที่สมัยนั้นผู้ชายนิยมมีภรรยามากกว่า 1 คน ทั้งคู่ให้กำเนิดบุตร-ธิดา 10 คน ซึ่งทุกคนได้รับพระราชทานนามจากพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

 

02 จากบ้านสู่โรงเรียน

พระยาชลภูมิพานิชถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2481

ต่อมาบ้านหลังนี้สืบทอดมายัง นายปานจิตต์ อเนกวณิช บุตรชายคนที่ 7 ของท่าน ครอบครัวของพระยาชลภูมิพานิชยังคงอาศัยในบ้านบางยี่ขันสืบมา จนสภาพสังคมเปลี่ยนไป คนเริ่มใช้รถยนต์แทนเรือ ครอบครัวอเนกวณิชจึงย้ายจากบ้านที่ไม่ติดถนนหลังนี้ไปอยู่ที่ย่านสุขุมวิท และปล่อยให้บ้านหลังนี้ทิ้งร้าง

พ.ศ. 2489 นายปานจิตต์โอนกรรมสิทธิ์บ้านบางยี่ขันให้ ‘กลุ่มมุสลิมบางกอกน้อย’ (มูลนิธิมุสลิมกรุงเทพวิทยาทานในปัจจุบัน) เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนของ ‘โรงเรียนราชการุญ’ แทนอาคารเดิมในย่านบางกอกน้อยซึ่งถูกระเบิดทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

โรงเรียนราชการุญก่อตัั้งขึ้นเพ่ื่อให้การศึกษากับเด็กด้อยโอกาสทุกศาสนา เก็บค่าเล่าเรียนราคาถูก แต่ดำเนินการได้เพียง 22 ปี ก็ประสบปัญหาด้านเงินทุน จนต้องปิดตัวลงใน พ.ศ. 2521

หลังจากนั้นอีก 5 ปีอาคารหลังนี้ก็ถูกปล่อยเช่าเพื่อใช้เป็น ‘โรงเรียนอินทรอาชีวศึกษา’ ซึ่งปิดตัวลงใน พ.ศ. 2539

นับจากนั้นอาคารหลังนี้ก็ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง จนคนที่นั่งเล่นอยู่ฝั่งสวนสันติชัยปราการต่างพากันสงสัยว่า ใครเป็นเจ้าของอาคารเก่าริมแม่น้ำหลังนี้

 

03 ฟื้นบ้าน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิชัย พิทักษ์วรรัตน์ เป็นสถาปนิกผู้เสียดายความงดงามทางสถาปัตยกรรมของบ้านบางยี่ขัน จึงได้ร่วมกลุ่มกับเพื่อนเข้าไปบูรณะบ้านหลังนี้หลังจากถูกปล่อยทิ้งร้างร่วม 20 ปี

สภาพที่เขาพบคือ หลังคายุบลงมาบางส่วน พื้นพัง มีน้ำท่วมขัง มีปัญหาความชื้น และเชื้อราที่เกิดจากความชื้นเนื่องจากอยู่ติดแม่น้ำ สถาปนิกท่านนี้อยากบูรณะโดยยังคงลักษณะเดิมของอาคารเอาไว้ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้าง งานฝีมือ และสีที่ใช้ 

เขาค่อยๆ รื้อส่วนประกอบต่างๆ ของบ้านออก แล้วขัดเกลาเพื่อเก็บกลับมาใช้ในตำแหน่งเดิม โดยเฉพาะของเก่าที่ทำโดยช่างฝีมือโบราณ แม้ว่าอาคารหลังนี้จะเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก แต่คนที่ก่อสร้างน่าจะเป็นช่างจีน สังเกตได้จากช่องลมฉลุลายโปร่งของประตูและหน้าต่าง กระจกสี บานเฟี้ยมไม้สักฉลุโบราณขนาด 8 เมตร สถาปนิกท่านนี้เลาะประตู หน้าต่าง และกรอบไม้วงกบ ออกมาซ่อมใช้ใหม่ทั้งหมด ถ้ามีจุดไหนเสื่อมสภาพก็ให้ช่างทำขึ้นมาใหม่เลียนแบบให้กลมกลืน

เนื่องจากอาคารหลังนี้มีโครงสร้างแบบโบราณ กำแพงจึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากนัก จึงต้องมีการเสริมโครงใหม่เข้าไปช่วยพยุงผนังเดิมให้ตกแต่งภายในได้ แล้วก็ยังมีการเสริมความแข็งแรงของแพซุงโบราณใต้ดินด้วยระบบคอนกรีตและระบบกันน้ำ รวมถึงทำระบบป้องกันความชื้นด้วยการติดตั้งปั๊มน้ำระบายน้ำออก เมื่อมีน้ำเข้ามาใต้อาคารมากเกินไป

การบูรณะยากขึ้นไปอีกเมื่อบ้านหลังนี้ไม่ติดถนน วัสดุก่อสร้างทั้งหมด รวมไปถึงต้นไม้เพื่อจัดสวน ต้องขนส่งมาทางเรือเท่านั้น เหมือนในอดีต

การบูรณะครั้งนี้ใช้เวลา 20 เดือนเต็ม กว่าจะเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2552 แล้วเปิดเป็นโรงแรมชื่อ พระยา พาลาซโซ (Praya Palazzo) หมายถึง คฤหาสน์แห่งพระยาชลภูมิพานิช

 

04 ผังห้องพัก

การจัดพื้นที่ห้องพักของพระยา พาลาซโซ ใช้หลักสมมาตรตามลักษณะตัวอาคาร ห้องพักมีทั้งหมด 17 ห้อง ตกแต่งด้วยแนวคิดแบบไทยเดิม เพื่อให้แขกได้สัมผัสบรรยากาศของบ้านไทยยุคโบราณ แต่ก็เติมสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปอย่างครบครัน

ห้องที่เป็นไฮไลต์ของอาคารนี้คือ ห้องร่มโพธิ์ ซึ่งเป็นห้องจัดพิธีการซึ่งอยู่บนโถงตรงกลางอาคารชั้นสอง มองออกไปเห็นวิวแม่น้ำ บานประตูของห้องนี้เป็นไม้ชิ้นใหญ่ซึ่งเป็นบานเดิมตั้งแต่แรก ห้องนี้เหมาะกับการจัดงานหมั้น งานเลี้ยงรับรองแบบส่วนตัวขนาดกลาง รวมถึงจัดประชุมสัมมนาผู้บริหารด้วย

ส่วนของภูมิสถาปัตยกรรม ยังคงแนวคิดที่ต้องการให้ที่นี่มีบรรยากาศเหมือนบ้าน พื้นที่เล็กๆ ระหว่างตึกจึงถูกใช้เป็นสวนสมุนไพร ปลูกต้นไม้ไทยโบราณ โดยเฉพาะไม้ดอกหอมและไม้ยืนต้นให้ร่มเงาอยู่รอบอาคาร

 

05 เจ้าของใหม่

คุณกิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป (Montara Hospitality Group) เล่าให้ The Cloud ฟังว่า บริษัทของเขาเริ่มต้นจากการทำตรีสรา (Trisara) รีสอร์ตอันโด่งดังที่ภูเก็ต ซึ่งอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีวิวที่พิเศษมาก เป็น Pool Villa สุดหรู ทุกยูนิตมีสระว่ายน้ำส่วนตัว เป็นวิลล่า 60 หลังบนพื้นที่ 130 ไร่

ถึงแม้ว่าตรีสราจะเป็นรีสอร์ตที่โด่งดังระดับโลก แต่การมีรีสอร์ตเพียงแห่งเดียวคงไม่ใช่แผนธุรกิจที่ดีในระยะยาวแน่ ทางมนทาระจึงอยากจะหยิบเอาคาแรกเตอร์ของตรีสราอย่างความเป็นส่วนตัว วิวพิเศษ และการบริการที่ดี มาสู่กรุงเทพฯ

ด้วยความที่ครอบครัวของคุณกิตติศักดิ์สนใจเรื่องการอนุรักษ์อาคารเก่ามานาน เมื่อจะทำโรงแรมแห่งที่สองในกรุงเทพฯ จึงเริ่มจากการมองหาอาคารเก่าทั่วกรุงเทพฯ

“ในกรุงเทพฯ มีโรงแรมเยอะมาก มันง่ายมากที่ลูกค้าจะเลือกจากรีวิวหรือราคาจากเว็บไซต์ต่างๆ เราจึงต้องหาโรงแรมที่พิเศษจริงๆ เหมือนอย่างตรีสราที่ภูเก็ต ซึ่งไม่มีใครก๊อปปี้วิวของเราได้ เราจึงหาอาคารที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ จนได้มาเจอพระยา พาลาซโซ ซึ่งถูกปรับปรุงเป็น Boutique Hotel เรียบร้อยแล้ว ถึงจะมีคนทำแมนชั่นริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีก แต่ก็ไม่ทางมีเรื่องราวเหมือนที่นี่แน่ๆ หลังจากที่คุณวิชัยเสียชีวิต เราจึงเข้ามาซื้อกิจการต่อ แล้วก็ปรับปรุง” คุณกิตติศักดิ์เล่าถึงเหตุผลในการเลือกลงทุนในพระยา พาลาซโซ

หลังจากนั้นเขาก็เข้าไปปรับปรุงโรงหนังปรินซ์ให้กลายเป็นโรงแรม Prince Theatre Heritage Stay

 

06 บริหารโรงแรมแบบใหม่

“พระยา พาลาซโซ มีลักษณะเป็นวิลล่าอยู่แล้ว เราเลยคิดว่าน่าจะเอาวิธีบริหารบางอย่างที่ตรีสรามาใช้ได้” คุณกิตติศักดิ์เล่า

“ที่ตรีสราเรามีพนักงานที่เรียกว่า Resort Host ทำหน้าที่ดูแลแขกในทุกเรื่อง ให้แขกติดต่อพนักงานคนนี้คนเดียว แขกจะรู้สึกใกล้ชิดกับพนักงาน และไม่ต้องเจอพนักงานหน้าใหม่ทุกวัน เราเอาระบบนี้มาใช้ พนักงานที่พระยา พาลาซโซ ทุกคนมีตำแหน่งเป็นโฮสต์ เรามีเลานจ์ตรงข้ามท่าพระอาทิตย์เพื่อรับแขก เมื่อแขกมาเช็กอิน โฮสต์จะพาแขกเดินข้ามถนนไปขึ้นเรือ พามาที่ร้านอาหาร รับออร์เดอร์จากแขก และแนะนำทุกอย่าง เราต้องฝึกพนักงานให้ทำงานแบบ Multitask ซึ่งแรงจูงใจคือ ยิ่งเขาดูแลแขกได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้เซอร์วิสชาร์จสูงขึ้น วิน-วินทุกฝ่าย”

 

07 โรงแรมที่ต้องนั่งเรือไปเท่านั้น

น่าสงสัยว่า โรงแรมที่ไม่ติดถนน จะมีลูกค้าเป็นคนกลุ่มไหน

“ในแง่ห้องพัก ถ้าเป็นคนไทยก็คือกลุ่มที่ต้องการความเป็นส่วนตัว คนกรุงเทพฯ อาจจะคิดว่าวันเสาร์-อาทิตย์แทนที่จะอยู่ในเมืองก็อยากมี Staycation สั้นๆ ในพื้นที่ที่สงบ แค่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาก็สัมผัสได้ถึงความสงบ สถาปัตยกรรมแบบยุโรปทำให้ดูแตกต่างจากชีวิตประจำวัน และการมายากก็ทำให้ได้ความเป็นส่วนตัว” คุณกิตติศักดิ์อธิบาย

ถ้าเป็นแขกต่างชาติ ที่นี่มีลูกค้าจากอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่แรก แต่ตอนนี้คุณกิตติศักดิ์พยายามขยายตลาดสู่จีนและเอเชีย ซึ่งไม่ใช่งานหนักมาก เพราะที่นี่มีห้องพักแค่ 17 ห้อง และโดยปกติก็มียอดจองราว 75 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว

“อีกกลุ่มเป็นแขกที่ต้องการจัดงานแต่งงานแบบพิเศษ แขกราว 100 – 150 ท่าน รวมถึงใช้เป็นที่จัดเลี้ยงอาหารมื้อพิเศษแบบส่วนตัว อย่างเช่นหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะมาแขกนั่งเรือส่วนตัวมาเลี้ยงรับรองที่นี่ รวมไปถึงการเช่าท้ังหลังเพื่อจัดอีเวนต์ต่างๆ”

 

08 จุดขายใหม่ที่ไม่มีใครเหมือน

หลังจากพระยา พาลาซโซ ปิดปรับปรุงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตอนนี้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งด้วยจุดขายใหม่

“การเป็น Boutique Hotel ริมแม่น้ำถือเป็นจุดแข็งของเรา เพราะที่ดินริมแม่น้ำหายากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเราต้องแข่งกับโรงแรมริมแม่น้ำ จุดที่ทำให้เราชนะก็คือ เราเป็น Mansion on the river ซึ่งสามารถปิดทั้งโรงแรมให้แขกกลุ่มหนึ่งได้ เขาสามารถเนรมิตสถานที่แห่งนี้ให้เป็นอย่างที่เขาต้องการได้ การเปิดให้เช่าแมนชั่นทั้งหลังเป็นการสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาซึ่งไม่มีใครเหมือน” คุณกิตติศักดิ์เล่าถึงจุดขายใหม่

แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าแขกยังอยากเช่าห้องพักเป็นห้องๆ ก็ยังทำได้เช่นเดิม

คุณกิตติศักดิ์ฝากถึงผู้อ่านว่า ถ้าใครอยากจะชิมอาหารไทยรสชาติดั้งเดิมของโรงแรมก็ขึ้นเรือรับส่งของโรงแรมมาได้เลย ซึ่งให้บริการฟรีอยู่ที่ท่าพระอาทิตย์ และท่าวัดราชาธิวาส (มีที่จอดรถ) ถ้าใครหาเรือไม่เจอก็โทรมาได้ที่เบอร์ 081 4028118 เดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะส่งเรือไปรับ

ส่วนใครกำลังหาที่จัดงานแต่งงาน ที่นี่ก็ตอบโจทย์มาก

“เหมือนมันกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง ตอนแรกเริ่มที่นี่เป็นเรือนหอ แล้วก็เป็นแมนชั่นของพระยาชลภูมิพานิช จากนั้นก็กลายมาเป็นโรงเรียน โรงเรียนอาชีวะ ตอนนี้กลับมาเป็นแมนชั่นอีกครั้ง เพราะพระยา พาลาซโซ แปลว่า บ้านของพระยา เป็นบ้านที่เปิดให้คนเข้ามาสัมผัสประสบการณ์พักในบ้านริมน้ำแบบพิเศษ”

ขอขอบคุณบทความดีๆจากเพจ readthecloud ครับ ^_^

ขอขอบคุณ โรงแรมพระยา พาลาสโซ ที่ไว้ใจใช้ตู้เค้กจากทางร้านเดอะ เมเปิ้ลครับ ^_^

Visitors: 88,979