Hinghoy Harmony

“การบาลานซ์ระหว่างการอนุรักษ์และธุรกิจคือประเด็นสำคัญ” อาจารย์ก้อย-ผศ. ดร.อัญชนา ท่านเจริญ บอกถึงหัวใจสำคัญในการออกแบบและทำงานร่วมกันของ Hinghoy Harmony คาเฟ่ริมน้ำที่ให้คนเมืองได้กลับมาเห็นแสงของหิ้งห้อยอีกครั้ง

อาจารย์ก้อย-ผศ. ดร.อัญชนา ท่านเจริญ, Hinghoy Harmony, คาเฟ่, หิ่งห้อย

ร้าน Hinghoy Harmony เดิมเป็นบ้านของ กมล เอี้ยวศิวิกูล เจ้าของบริษัท ไมด้าแอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) แต่หลังจากที่เขาเห็นแสงระยิบระยับของหิ้งห้อยในรั้วบ้าน จึงอยากเนรมิตพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นคาเฟ่และบ้านของหิ่งห้อย เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนเมืองได้มีโอกาสชมแสงหิ่งห้อยแบบไม่ต้องเดินทางไกล

เขาตัดสินใจทุบบ้านเดิมทิ้งแล้วสร้างอาคารโมเดิร์นทรงสูงขึ้นมา 2 หลังและศาลาริมน้ำ พร้อมทั้งชวนอาจารย์ก้อยและทีมงานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาออกแบบบ้านให้หิ่งห้อย

Hinghoy Harmony, คาเฟ่, หิ่งห้อย

สร้างบ้านให้หิ่งห้อย

“ความยากไม่ใช่การออกแบบสถานที่ แต่ต้องตอบโจทย์นิเวศของหิ่งห้อยทั้งวงจรชีวิต” อาจารย์อ้อย รศ.อลิศรา มีนะกนิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในทีมผู้ออกแบบพื้นที่เล่าแนวคิดการออกแบบ

หลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อของหิ่งห้อย แต่น้อยคนที่จะเคยเห็นตัวจริงๆ หรือรู้จักวงจรชีวิตของมันด้วย หิ่งห้อยมีวงจรชีวิตคล้ายผีเสื้อ คือ ไข่ ตัวอ่อน ดักแก้ และโตเต็มวัย ในพื้นที่นี้มีหิ่งห้อย 2 ชนิดคือ หิ่งห้อยน้ำจืดและหิ่งห้อยน้ำกร่อย ไข่และตัวอ่อนของหิ่งห้อยน้ำจืดอยู่ในน้ำ 

อย่างแรกจึงมีการขุดบ่อขึ้นมาเพื่อเป็นบ้านให้ตัวอ่อนหิ่งห้อย และมีการเลี้ยงหอยน้ำจืดซึ่งเป็นอาหารหลักของตัวอ่อนด้วย พอเข้าสู่ระยะดักแด้ ตัวอ่อนก็จะปีนขึ้นจากน้ำขึ้นมาที่ริมตลิ่งแต่เข้าสู่ระยะดักแด้ในดิน ก่อนเจริญเป็นตัวเต็มวัยกระพือปีกโบยบินและกะพริบแสงหาคู่ ส่วนหิ่งห้อยน้ำกร่อยจะมีวงจรชีวิตบนพื้นที่ชื้นแฉะตลอดจนกว่าจะเข้าสู่ตัวโตเต็มวัย

อาจารย์ก้อย-ผศ. ดร.อัญชนา ท่านเจริญ, Hinghoy Harmony, คาเฟ่, หิ่งห้อย

และด้วยพื้นที่นี้มีหิ่งห้อย 2 ชนิดที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน การออกแบบจึงแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือโซนด้านนอกติดริมน้ำ จะมีศาลาให้ทานอาหาร อยู่คู่กับกอหญ้ารกๆ บ้านพักอาศัยของหิ่งห้อยน้ำกร่อย ถัดเข้ามาเป็นร้านอาหารที่ขนาบข้างด้วยบ่อน้ำและทางเดินเรียบง่ายใต้ร่มไม้ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อยน้ำจืด

Hinghoy Harmony, คาเฟ่, หิ่งห้อย
Hinghoy Harmony, คาเฟ่, หิ่งห้อย

“ที่สำคัญคือ เราจะเก็บต้นไม้เดิมไว้ อย่างต้นทองหลางต้นใหญ่ เราออกแบบให้เป็นเกาะกลางน้ำให้คนได้พักหรือทานอาหารตรงนั้น ส่วนของต้นลำพูที่เดิมมีเยอะเกินไปก็ต้องเอาออก จริงๆ แล้วหิ่งห้อยไม่ได้จำเพาะว่าต้องเกาะต้นลำพูแต่มันควรมีที่โล่งหรือตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อที่จะดึงดูดเพศตรงข้ามให้มองเห็นได้ ให้มันบินไปบินมาได้ ถ้าแน่นไปหิ่งห้อยก็จะมองไม่เห็นกัน เราเลยเลือกย้ายต้นไม้ออกบ้าง

“ส่วนหิ่งห้อยน้ำจืดจะเน้นดูแลตัวอ่อนของมันที่เกี่ยวข้องกับพืชน้ำมากกว่า พืชริมตลิ่งที่เราใช้ก็จะมีสองระดับคือในน้ำกับริมตลิ่ง เช่น คล้าน้ำช่อห้อย คล้าดอกขาว หรือต้อยติ่งเทศ จะช่วยสร้างระบบนิเวศริมตลิ่ง คอยให้ร่มเงาให้สัตว์น้ำอยู่ได้” อาจารย์อ้อยเล่าถึงรายละเอียดความสัมพันธ์ในการออกแบบพื้นที่และระบบนิเวศของหิ่งห้อยที่ละเอียดอ่อน

Hinghoy Harmony, คาเฟ่, หิ่งห้อย
Hinghoy Harmony, คาเฟ่, หิ่งห้อย

แม้จะออกแบบบ้านให้หิ่งห้อยเรียบร้อยแล้ว แต่หิ่งห้อยก็อาจจะอยู่ไม่ได้ถ้ามันไม่มีอาหาร การดูแลพื้นที่ยังต้องคำนึงถึงวงจรชีวิตของหอยน้ำจืดที่เป็นอาหารของหิ่งห้อยด้วย ทำให้ต้องมีการออกแบบระบบการไหลเวียนของน้ำ และการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้ายิ่งมีปริมาณหอยน้ำจืดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่หิ่งห้อยจะโตเป็นตัวเต็มวัยที่สมบูรณ์มากขึ้นด้วย

สร้างพื้นที่ให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

หลังจากเราเดินชมบรรยากาศโดยรอบแล้ว เราก็เข้ามาในอาคารเพื่อคุยกันต่อบนโต๊ะอาหาร เราใช้เวลาอยู่นานในการเลือกเมนูอาหารหลากหลาย ทั้งอาหารไทย อาหารฝรั่ง หรือเบเกอรี่ด้วย ฉันลองชิม le Lumpu โกโก้แท้รสเข้มที่ชวนให้นึกถึงเอสเพรสโซ่ช็อตแต่อร่อยกว่า หนึ่งในเมนูซิกเนเจอร์ของที่ร้าน

“เป็นนักวิจัยในมหาวิทยาลัยแล้วอาจารย์มาออกแบบหรือทำงานร่วมกับที่นี่ได้อย่างไร” ฉันเปิดบทสนทนาหลังจากที่เราสั่งอาหารเสร็จ

“พี่ไม่เคยคิดว่าจะเอางานวิจัยตัวเองมาทำมาหากินหรือทำให้ออกแนวธุรกิจเลย ซึ่งร้านนี้มาชวนนานมากแต่ก็ปฏิเสธไปหลายที” อาจารย์ก้อย นักวิจัยสาวที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับหิ่งห้อยมากกว่า 20 ปี เล่าถึงความตั้งใจจริงของเธอในการทำงานสายวิชาการ

Hinghoy Harmony คาเฟ่และบ้านของหิ่งห้อยริมเจ้าพระยาที่ชวนคนเมืองมาดูแสงหิ่งห้อยอีกครั้ง

“จนปัจจุบันการใช้พื้นที่ในเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก ที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อยก็ถูกทำลาย ทำให้หิ่งห้อยลดลง เราเลยเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า ถ้าอะไรที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้มันก็จะสูญพันธุ์ไปเพราะไม่มีใครรักษาไว้ แต่ถ้าเราทำให้มันใช้ประโยชน์ได้มันก็จะไม่หายไป เลยตัดสินใจมาทำโครงการนี้”

อาจารย์ก้อยเล่าว่า เธอเคยทำโครงการเพาะพันธุ์และปล่อยหิ่งห้อยมาก่อนหน้านี้ที่ศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน ‘ชีวพนาเวศ’ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการปล่อยหิ่งห้อยในพื้นที่ธรรมชาติ และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่คนจำนวนไม่มากนัก แต่โครงการนี้ต้องทำเป็นร้านอาหารด้วย ซึ่งท้าทายกว่ามาก

Hinghoy Harmony คาเฟ่และบ้านของหิ่งห้อยริมเจ้าพระยาที่ชวนคนเมืองมาดูแสงหิ่งห้อยอีกครั้ง
Hinghoy Harmony คาเฟ่และบ้านของหิ่งห้อยริมเจ้าพระยาที่ชวนคนเมืองมาดูแสงหิ่งห้อยอีกครั้ง

“การบาลานซ์ระหว่างการอนุรักษ์และธุรกิจคือประเด็นสำคัญ เราต้องปรับจูนกันตลอด อย่างคาเฟ่ต้องมีแสงไฟส่องสว่าง แต่แสงไฟก็จะรบกวนหิ่งห้อย หรือพื้นที่รกๆ อาจจะดูไม่สวย ซึ่งตอนก่อสร้างเขาไม่รู้ก็มีตัดหญ้าออกไป เราต้องรีบไปห้ามเลย เพราะมันคือบ้านของหิ่งห้อยน้ำกร่อย”

“คิดว่าต้องใช้เวลานานไหมคะ ถึงจะสำเร็จ” ฉันถาม

“โปรเจกต์นี้ตั้งใจว่าจะทำสามปีค่ะ ถือว่าไม่ได้เยอะนะคะ แต่ถ้านานกว่านี้อาจจะนานไปสำหรับงานวิจัย ซึ่งจริงๆ ถ้ามีหิ่งห้อยเดิมอยู่แล้ว เราแค่อนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ก็ประสบความสำเร็จง่ายหน่อย แต่ถ้าปล่อยก็ต้องใช้เวลานาน อย่างของไต้หวันใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองถึงสามปีถึงจะเห็นผล เพราะปล่อยไปเป็นร้อยเหลือรอดแค่สิบเปอร์เซ็นต์ ทั้งตายไปตามวงจรชีวิตบ้างและปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย”

Hinghoy Harmony คาเฟ่และบ้านของหิ่งห้อยริมเจ้าพระยาที่ชวนคนเมืองมาดูแสงหิ่งห้อยอีกครั้ง

ภายในร้านอื่นๆ ที่และบริเวณโดยรอบมีป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของหิ่งห้อย ชนิดพันธุ์ และข้อมูลสำคัญ อาจารย์ก้อยตั้งใจไว้ว่า นอกจากผู้คนจะได้มาทานอาหารแล้วยังได้เรียนรู้เรื่องราวของหิ่งห้อยด้วย อาจมีกิจกรรมนำชมหิ่งห้อยเพิ่มเติมในอนาคต และหวังว่าจะจุดประกายให้ผู้คนหลงรักแสงหิ่งห้อยและกลับมาดูแลธรรมชาติด้วย

อาหารรสชาติดีชวนให้บทสนทนาของเรายืดยาวขึ้น พอรู้ตัวอีกทีท้องฟ้าก็มืดสนิท ฉันมองหาแสงของหิ่งห้อยผ่านกระจกบานสูง “นานแค่ไหนแล้วนะที่ไม่ได้เห็นแสงของหิ่งห้อย” “ที่ไหนกันนะที่เราเห็นหิ่งห้อยครั้งสุดท้าย” ฉันนึกแทบไม่ออก

ฉันออกไปเดินทอดน่องบนทางเดินไม้ริมน้ำอย่างช้าๆ ดูแสงเหลืองนวลกะพริบของหิ่งห้อยอีกครั้ง ก่อนกลับฉันหยุดอ่านตัวอักษรตัวโตใกล้ประตูทางออก “Be a firefly gleam your surroundings for no reasons.”

Hinghoy Harmony คาเฟ่และบ้านของหิ่งห้อยริมเจ้าพระยาที่ชวนคนเมืองมาดูแสงหิ่งห้อยอีกครั้ง

 

ขอขอบคุณเรื่องราวดีๆจากเพจ readthecloud ครับ ^_^

ขอขอบคุณร้านหิ่งห้อย ฮาร์โมนี่ที่ไว้ใจใช้ตู้แช่จากทางร้านเดอะ เมเปิ้ลครับ ^_^

Visitors: 88,992