LUK HOSTEL

Highlights

  • จากความสำเร็จของ Once Again Hostel ย่านกรุงเก่าที่เป็นการทำงานระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่กับชุมชนท้องถิ่น เกิดเป็นการต่อยอดทางธุรกิจกับโฮสเทลแห่งใหม่ย่านสำเพ็งที่มีชื่อว่า LUK Hostel (ลุก โฮสเทล)
  • ด้วยคอนเซปต์การมองไปข้างหน้าถึงอนาคต ทำให้สถาปนิกเลือกหยิบเอาความเป็นสำเพ็งกับเยาวราชมาตีความใหม่ เพื่อส่งต่อวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของย่านนี้ผ่านการออกแบบรูปร่างหน้าตาของที่นี่
  • นอกจากความจีนที่เป็นโจทย์ใหญ่แล้ว ความปูนของสถาปัตยกรรมร้านรวงต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญ การออกแบบสไตล์อินดัสเทรียลจึงกลายเป็นตัวเลือกที่ตอบทั้งความสวยงามและความกลมกลืนไปกับพื้นที่
 

 

ฉันเดินข้ามถนนที่มีรถแล่นผ่านพลุกพล่านอย่างระแวดระวัง แม้จะยังไม่เย็นย่ำมากนัก แต่แถวเยาวราชก็มีคนมากมายเดินกันขวักไขว่ ทั้งชาวไทย ชาวจีน และนักท่องเที่ยวจากหลากหลายประเทศ ฉันก้าวเท้ากวาดตามองอาหารหน้าตาน่าทานตลอดทาง และพบว่าในตรอกเล็กๆ บนถนนวานิช 1 อันอัดแน่นไปด้วยร้านรวงและแผงลอยที่ตั้งประจำการเพื่อรอต้อนรับลูกค้ามาจับจ่ายใช้สอยแล้ว ยังมี ‘โฮสเทล’ ขนาดใหญ่หลบซ่อนอยู่

แม้มองเผินๆ ลุก โฮสเทลจะดูกลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมรอบข้าง ทว่าด้วยรูปทรง ขนาด และพื้นที่โล่งชั้น 1 ก็ทำให้ฉันรู้สึกว่าที่นี่มีเอกลักษณ์ในตัวของมันที่จะไม่ทำให้ใครๆ มองข้ามไป

แน่นอนว่าถ้าใครรู้จัก Once Again Hostel ที่เป็นการทำงานระหว่างคนรุ่นใหม่กับชุมชนในย่านกรุงเก่า โฮสเทลแห่งนี้คือโปรเจกต์ที่ มิค–ภัททกร ธนสารอักษร และ ศา–ศานนท์ หวังสร้างบุญ ลุกขึ้นมาต่อยอดร่วมกับหุ้นส่วน เอิฟ–ธรณ์เทพ เตือนวชาติ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ ภายใต้ชื่อ ‘ลุก โฮสเทล’ ที่มีความหมายตรงๆ ถึงการชวนกันลุกขึ้นมาสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ

แม้ที่นี่จะเพิ่งเปิดได้แค่ 5 เดือน แต่ด้วยการออกแบบที่ส่งต่อความเป็นสำเพ็งและเยาวราชมาสู่การตีความแบบใหม่ ทำให้โฮสเทลแห่งนี้ไม่ได้เป็นโฮสเทลทั่วๆ ไปที่เน้นการออกแบบสวยๆ ดึงดูดความสนใจผู้เข้าพัก ทว่ายังหยิบเอาเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์ของโลเคชั่นมาประยุกต์ใช้

ฉันจึงอยากชวนคุณมาสำรวจว่าเบื้องหลังผนังปูนเปลือย กระเบื้องที่เรียงตัวเป็นแพตเทิร์น และบันไดที่จู่ๆ ก็เหมือนลอยตัวอยู่กลางอากาศนี่มีอะไรซ่อนอยู่ ถ้าพร้อมแล้วก็กดลิฟต์ขึ้นล็อบบี้ที่อยู่ชั้น 5 ไปด้วยกันเลย

ตึกเก่าเล่าใหม่

“Once Again Hostel ก็มีคอนเซปต์ของเขาคือ การมีอะไรเกี่ยวกับอดีต เราก็เลยอยากหาความสดใหม่ ความไปข้างหน้า ถ้ามองจากไทม์ไลน์ที่นั่นคือ bring back the past ส่วนที่นี่เรารู้สึกว่าเยาวราชเป็นพื้นที่ของโอกาส ตั้งแต่คนจีนมาตั้งรกราก เศรษฐีหลายๆ คนก็มาเริ่มกันที่เยาวราช เพราะมันเป็นดินแดนแห่งโอกาส ถ้ามองไกลๆ มันเป็นสถานที่ที่ก่อตั้ง innovation ไปเรื่อยๆ เรามองว่ามันเป็นพื้นที่ของอนาคต ที่นี่จึงเป็น future concept”

เอิฟเท้าความถึงที่มาที่ไปในการเลือกย่านนี้เป็นโลเคชั่นของลุก โฮสเทลให้ฉันฟังด้วยท่าทางยิ้มแย้ม

“ถ้ามอง Once Again เป็นคน คาแร็กเตอร์จะเป็นคนที่มองปัจจุบันเป็นหลัก อยู่กับความเป็นจริง อายุไม่เด็กมาก ไม่รู้สึกว่าไฟต้องลุกตลอดเวลา เข้าใจโลกมากขึ้น แต่ยังไม่อยากตกเทรนด์ ประมาณวัยสามสิบกว่าๆ แบบเรา แต่คาแร็กเตอร์ลุกคือเป็นเด็กเพิ่งเรียนจบ อยากลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง นั่นก็คือเอิฟนั่นเอง ซึ่งเด็กกว่าและมองเห็นอนาคตอีกไกล”

มิคช่วยเสริมให้เห็นภาพของโฮสเทลนี้ชัดเจนขึ้น และจากที่เห็นบุคลิกของเอิฟผู้แสนกระตือรือร้น ฉันก็เห็นตรงกับภาพที่เขาอธิบายไว้จริงๆ

ก่อนจะมาเป็นโฮสเทล ที่ตรงนี้เคยเป็นสำเพ็งพลาซ่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์และดูทึบมากๆ มิคที่เป็นโต้โผด้านการออกแบบจึงพยายามคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งก่อสร้างใหม่แห่งนี้ออกมาใช้งานได้ สวยงาม และกลมกลืนไปกับพื้นที่ในย่านสำเพ็งที่ค่อนข้างวุ่นวายและเยาวราชที่มีความจีนเป็นภาพจำ โดยศารับหน้าที่สำรวจหาข้อมูลกับคนในท้องถิ่นมาให้ รวมถึงคิดคอนเซปต์ต่างๆ ส่วนเอิฟคอยช่วยเสนอความเห็น รวมถึงบริหารจัดการส่วนที่เป็นบุคลากรกับระบบภายในทั้งหมด

 ถอดสถานที่ออกมาเป็นสัญลักษณ์

หลังจากสำรวจพื้นที่กันแล้ว ทั้งหมดก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อวางคอนเซปต์ในการออกแบบ และพบว่าความท้าทายหนึ่งที่สำคัญคือ ‘ความจีน’

“แรกสุดมันมีความยากและย้อนแย้งว่าเรามองกลุ่มเป้าหมายเป็นฝรั่ง ซึ่งเอิฟจะค่อนข้างคุ้นเคยกับคนกลุ่มนี้ เอิฟก็ไม่อยากให้จีนจ๋า เป็นจีนที่ไม่ใช่แบบแพตเทิร์นจีน ลายจีน ตู้มังกร แต่ด้วยความที่อยู่ตรงนี้มันต้องมีความจีน ก็เลยใช้ความจีนเชิงสัญลักษณ์ เช่น สีแดง หรือแพตเทิร์นซ้ำๆ บางอย่างที่เป็นคาแร็กเตอร์ของแพตเทิร์นจีน ผนังจีน รู้สึกว่าเราถอดความจีนมาจากสัญลักษณ์ต่างๆ มากกว่า”

มิคสวมวิญญาณสถาปนิกอธิบายถึงแนวคิดในการออกแบบของเขา ฉันเองก็รู้สึกได้ว่าที่นี่มีความจีนผสมอยู่แต่ไม่ได้เห็นชัดขนาดนั้น เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แอบแฝงอยู่มากกว่า อย่างเรือนกระจกบนดาดฟ้าที่เรานั่งคุยกันอยู่ ชายหนุ่มก็ตั้งใจออกแบบหลังคาเป็นทรงป้าน ซึ่งมาจากหลังคาของสถาปัตยกรรมจีนอย่างพวกโรงเตี๊ยม

อีกความจีนที่ฉันสังเกตเห็นคือ สีแดง สีแห่งความโชคดีและความสุขของชาวจีนที่ปรากฏตามผนังล็อบบี้ ห้องพัก และบาร์ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มิคซ่อนไว้เหมือนกัน ทั้งยังมีรายละเอียดเรื่องแพตเทิร์นที่ถ้าไม่สังเกตหรือคุยกับคนออกแบบจริงๆ ก็อาจจะไม่รู้

“อย่างแพตเทิร์นนี้มาจากฟุตพาทของสำเพ็งสมัยก่อน เรารู้จักอาเจ๊กคนหนึ่งที่รู้เรื่องสำเพ็งเยอะมาก เอารูปเก่าๆ ให้เราดู สมัยก่อนฟุตพาทแถวนี้เป็นหินก้อนใหญ่ๆ แล้วปูเป็นแพตเทิร์นเรียงๆ กัน เท่มาก เราอยากเอากลิ่นอายเหล่านั้นมาใช้ อาจจะไม่ได้กลับมาในรูปแบบโบราณ แต่กลับมาในรูปแบบปัจจุบัน”

สถาปนิกหนุ่มชี้ชวนให้ดูกระเบื้องปูพื้นสีเทาที่เราเหยียบอยู่ นั่นยิ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งหมดผ่านการศึกษาและคิดมาอย่างดี ยังไม่นับรวมการห้อยโคมไฟในระดับที่ลดหลั่นกันไปบริเวณคอร์ตกลาง เพื่อสื่อถึงแสงสีของป้ายร้านย่านเยาวราชที่มีความเดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำเดี๋ยวเล็กเดี๋ยวใหญ่อีก

“ถ้าหรี่ตาลงจะเห็นเป็นจุดกำเนิดแสงสว่างที่ไม่เท่ากัน มันแรนด้อมๆ เหมือนเยาวราช แล้วการวางไฟแบบนี้ก็ช่วยให้สเปซดูต่อเนื่องกัน เป็นการเอาความแรนด้อมตรงนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์”

เปลี่ยนความยากเป็นความไม่ธรรมดา

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้โฮสเทลนี้โดดเด่นกว่าสิ่งก่อสร้างรอบข้างคือ ขนาดอันใหญ่โต

ตอนที่ฉันกับช่างภาพเดินเข้ามาในโฮสเทลก็รู้สึกถึงความกว้างของที่นี่ จนสงสัยว่ามีตึกเดี่ยวที่ใหญ่ขนาดนี้ด้วยหรือ แต่พอพูดคุยกับทั้งสองคนก็ได้ทราบว่าลุก โฮสเทลไม่ได้รีโนเวตจากตึกเดียวจริงๆ

“เพราะตึกที่เราเห็นเป็นตึกเดียวนี้ที่จริงมันคือสองตึกแล้วทุบตรงกลาง เห็นได้จากสเปซที่ฝั่งหนึ่งมี 5 ชั้น และอีกฝั่งมี 6 ชั้น นั่นคือเหตุผลที่เราสร้างบันไดตรงกลาง คิดว่าน่าจะเป็นความท้าทายของสถาปนิกประมาณหนึ่งในการออกแบบ” เอิฟหัวเราะพลางมองรุ่นพี่ที่รับหน้าที่ออกแบบตั้งแต่ต้น

“ถามว่าเราเห็นอะไรในตึกนี้ดีกว่า มันยากนะเพราะมันคือตึกที่ไม่เหมือนกัน แต่เราก็มองเห็นว่าสเปซมันจะไม่ธรรมดาไปด้วย เลยคิดว่าอยากให้เป็นพื้นที่เดียวกันไปเลย คนที่มาจะบอกว่าเหมือนอยู่ในสเปซที่อยู่ในหนัง อยู่ในสเปซที่ไม่มีอยู่จริง มันสปรินต์และมีบันไดลอยกลางอากาศอยู่ เป็นสเปซที่สร้างแรงบันดาลใจ รู้สึกว่ามีอะไร เราเลยอยากโชว์สเปซตรงนี้ให้มีศักยภาพสูงสุด ก็เลยเจาะช่องให้คนมองเห็นสเปซภายในตึกทั้งหมด ทำให้คนในตึกเห็นกัน ไม่น่ากลัว จากตอนแรกที่ตึกน่ากลัวมาก ไม่ค่อยกล้ามาคนเดียว แต่ตอนนี้มันโปร่งโล่งและแสงธรรมชาติเข้าถึง”

ฉันพยักหน้าเห็นด้วย เพราะตอนที่เดินเข้ามาในอาคารและเงยหน้าขึ้นมองด้านบนก็พบช่องตรงกลางที่ทำให้เห็นโครงสร้างด้านใน ยิ่งเมื่อเดินสำรวจข้างในก็รู้สึกถึงความเป็นคอมมิวนิตี้ที่เปิดโอกาสให้คนบังเอิญเจอกันแบบโฮสเทล และความเป็นส่วนตัวเมื่อเข้าห้องพักแล้ว แถมแสงธรรมชาติก็ส่องสว่างผ่านพื้นกระจกชั้นดาดฟ้าจนถึงชั้นล่างสุด

สร้างความกลมกลืนด้วยปูนเปลือย

“เรารู้สึกว่าความเป็นไปได้ของอาคารนี้ในสมัยก่อนคือสำเพ็งพลาซ่า มันคือโอกาสในสมัยก่อน และเราเห็นโอกาสในอนาคตที่มันจะเป็นไปได้ เราเลยทำให้ที่นี่เป็นเหมือนอาคารในอนาคตที่เรามองเห็น ไม่ได้บอกว่าอนาคตต้อง futuristic เทคโนโลยีล้ำเลิศ แต่เรามองว่าอนาคตที่น่าสนใจคือการที่มนุษย์ได้สัมผัสกับแสงธรรมชาติ ได้อยู่กับอะไรที่โปร่ง มองเห็นกันและกัน เราพยายามให้ลักษณะของมันไม่เด้งจากความเป็นสำเพ็งมากจนเกินไป สุดท้ายสำเพ็งมันก็คือตึกเก่าๆ ปูนๆ เราเลยยังคงความเป็นปูนๆ อยู่ อยากให้มันกลืนไปกับสำเพ็งด้วย เลยทำให้โทนสีเก่าๆ ด้วยการใช้ปูนที่เห็นนั่นแหละ”

ด้วยบริบทเมืองเก่าที่อุดมไปด้วยประวัติศาสตร์นี่เองที่ทำให้มิคหยิบเอาการออกแบบอินดัสเทรียลมาใช้กับลุก โฮสเทลอย่างเต็มที่ เพราะถึงแม้ที่นี่จะดูกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมแต่ก็แฝงความมีอะไรอยู่ แสดงให้เห็นถึงงานออกแบบที่อยู่ย่านสำเพ็งและบ่งบอกถึงอนาคตได้

“เรามองว่าสำเพ็งคือความไม่เป็นระเบียบ ไม่ใช่ความเป๊ะ เราตีความมาได้แบบนี้ อาจแตกต่างกับที่อื่นก็ได้ แต่เราอยากให้เป็นกลิ่นอายที่คนเข้ามาแล้วรู้สึกว่าสำเพ็งน่าอยู่ น่าเข้ามาใช้ชีวิต ไม่ใช่การที่ต้องใหม่เว่อร์”

“อนาคตมีได้หลายเส้นทางใช่ไหม เราเห็นอนาคตเส้นทางหนึ่งที่มองว่าสำเพ็งยังอยู่ต่อไปได้ถ้าปรับให้ดูใหม่และเป็นแนวที่เราคิดว่าเข้าถึงได้ง่าย นั่นคือแนวอินดัสเทรียล ซึ่งตามมาด้วยความลอฟท์ของมัน ปูนเปลือย โชว์ท่อไฟ โชว์งานระบบทั้งหมด เพราะด้วยความที่เรามองว่าสำเพ็งไม่ใช่ความเนี้ยบนั่นเอง”

ดังนั้นการออกแบบแนวปูนเปลือยของโฮสเทลแห่งนี้จึงไม่ใช่แค่การเปลือยเพื่อความสวยงาม แต่ยังทำหน้าที่เปลือยถึงประวัติศาสตร์และความเป็นสำเพ็งด้วย

มากกว่าความงามคือให้ประสบการณ์

อีกหนึ่งความน่าสนใจของที่นี่คงหนีไม่พ้นส่วนล็อบบี้ต้อนรับที่มีตู้ยาเก่าจำนวนมหาศาลเรียงรายอยู่ตามผนัง สารภาพตามตรงว่าฉันแอบลองดึงที่จับออกมาเหมือนกัน ถึงจะรู้ว่านั่นคือการออกแบบของมิคแล้วก็ตาม

“สมัยก่อนตู้ยาถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอินทีเรียร์ในร้านของเยาวราช เป็นชั้นตู้ยาเยอะๆ แต่เราไม่อยากเอาตู้ยาโบราณที่เป็นลายไม้เก่าๆ มาใช้ เราตีความตู้ยาเป็นแค่การใช้กริดสี่เหลี่ยมจำนวนเยอะๆ พูดง่ายๆ คือเอาระบบกริดผืนผ้ามาใช้ แล้วติดมือจับเข้าไป คนจะรู้สึกว่านี่คือตู้ยา แต่จริงๆ มันเป็นแค่การถอดสัญลักษณ์มาใช้เหมือนกับส่วนอื่นๆ”

แต่ถึงกระนั้น ความสวยงามที่ทุกคนมองเห็นก็มีฟังก์ชั่นแฝงอยู่ อย่างตอนที่ฉันไป แผงตู้ยายาวขนาดเท่าประตูเปิดอ้า ทำให้เห็นว่ามีห้องน้ำซ่อนอยู่ภายในตู้ยาเหล่านั้น

“เป็นการบอกว่าตู้ยามีที่เก็บฟังก์ชั่นนู่นนี่ ซึ่งด้วยความที่เราอยากเซอร์ไพรส์แขกหรือคนที่มาให้รู้สึกว่าตู้ยาดึงได้หรือเปล่าวะ พอเล่นๆ แล้วเปิดได้เป็นห้องน้ำ คนก็ตกใจเยอะเหมือนกัน แต่ที่จริงแล้วมันคือฟังก์ชั่นที่ต้องทำให้ส่วนต้อนรับแหละ ซึ่งก็ใส่ไว้หลังตู้ยาเลย เรียกว่าเป็นฟังก์ชั่น ดีไซน์ ความสวยงาม และเรื่องประสบการณ์ที่คนเล่นแล้วเจออะไร เป็นประสบการณ์ที่เจอได้เฉพาะที่นี่ เพราะด้วยความเป็นสำเพ็งกับเยาวราช ถ้าลองเดินเล่นๆ ในจุดที่ไม่ใช่จุดหลักๆ ลองไปตามตรอกต่างๆ จะชอบเจอเซอร์ไพรส์ อยู่ๆ ก็เจอวัดจีนหรือโรงเรียน มันคือความเซอร์ไพรส์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นประสบการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ เป็นสิ่งที่ทำให้ที่นี่มีเสน่ห์”

พวกเราจบบทสนทนากันในช่วงฟ้ามืดพอดี เอิฟเดินลงมาส่งพวกฉันและบอกลาด้วยน้ำเสียงสดใส ร้านค้ารอบข้างปิดหมดแล้ว คงเหลือแต่โฮสเทลที่ยังเปิดไฟส่องไสว อีกไม่นานแผงลอยจะเริ่มตั้งและถนนวานิช 1 ก็จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

เมื่อนั้น คงจะมีคนไทยหรือนักท่องเที่ยวจากชาติไหนสักชาติเดินสำรวจย่านเยาวราชจนมาเจอความเซอร์ไพรส์แห่งใหม่ที่มีชื่อว่าลุก โฮสเทลบ้าง

 

 

ขอบคุณเรื่องราวดีๆจากเพจ adaymagazine ครับ

ขอขอบคุณ Luk Hostel ที่ไว้ใจใช้ตู้แช่จากทางร้านเดอะ เมเปิ้ลครับ ^_^

Visitors: 88,986