Alonetogether

 หากคุณลุ่มหลงในดนตรีแจ๊ส หากคุณหลงใหลในรสชาติแสนพิเศษของค็อกเทล หากคุณหลงรักบรรยากาศของการนั่งดื่มในบาร์อย่างหมดใจ และหากคุณกำลังมองหาสักที่ทางหนึ่งที่รวมเอาความลุ่มหลง ความหลงใหล และความหลงรักของคุณเข้าไว้ด้วยกัน Alonetogether คือคำตอบนั้น

 

เบื้องหลังของ Alonetogether ไม่ใช่ทีมหน้าใหม่ในวงการบาร์ เติร์ก-สิทธานต์ สงวนกุล เคยทำให้ Sugar Ray You’ve Just Been Poisoned, Q&A และ Thaipioka กลายเป็นที่รักของนักดื่มมาแล้ว ขณะที่ ก้อง-อนุภาส เปรมานุวัติ มีชื่อติดอยู่ในหนึ่งมิกโซโลจิสต์ที่มากด้วยความคิดสร้างสรรค์ ดังที่เห็นได้จาก Ku Bar ที่เขาเป็นทั้งบาร์เทนเดอร์และเป็นเจ้าของร้าน คือการยืนยัน

 

ทั้งสองจับมือกันเปิดบาร์แห่งใหม่ ด้วยความที่เติร์กหลงใหลในดนตรีแจ๊สอยู่เดิมที ส่วนก้องก็มองย้อนไปที่คลาสสิกค็อกเทลที่หลายคนมองข้าม แต่ยังมีเสน่ห์ข้ามกาลเวลา ดนตรีแจ๊สและคลาสสิกค็อกเทลจึงถูกจับมาผนวกกันไว้ในบาร์ที่ตั้งตามชื่อเพลงของ Bill Evans นักเปียโนแจ๊สชาวอเมริกันคนสำคัญของโลก

 

The Vibe

Alonetogether ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 31 ซ่อนอยู่ในหลืบเล็กของตึกใหญ่ แต่ก็มองหาได้ไม่ยาก ป้ายเล็กๆ จะบอกเองว่าคุณมาถูกที่ เราจึงเรียกบาร์แห่งนี้ว่าสปีกอีซี่ได้ไม่เต็มปากนัก แต่ทางเข้าที่เป็นเพียงบานประตูเรียบนิ่งก็กระตุ้นให้รู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง และโลเคชันที่ไม่ลับแต่ชวนรู้สึกลึกลับ

 

Alonetogether Bangkok
Alonetogether Bangkok

สังเกตป้ายนี้ไว้ให้ดี

 

ผลักบานประตูเข้าไป จึงพบเข้ากับบาร์ขนาดแคบ ทอดตัวยาวลึก ฝั่งขวามือคือเคาน์เตอร์บาร์วางตัวขนานไปกับทางเดินและเก้าอี้ตั้งเรียง มองไปสุดร้านเป็นพื้นที่ของเครื่องดนตรีฟูลแบนด์อยู่ใต้ดวงไฟสีน้ำตาลทอง ก้าวเข้าร้านได้ยินเสียงร้องของ ลิซ่า โอโนะ ในท่วงทำนองบอสซาโนวาแจ๊สดำเนินไปเพลงต่อเพลง

 

Alonetogether Bangkok

 

“คืนนี้เราจะมีไลฟ์มิวสิกตอน 3 ทุ่มครึ่งครับ” ก๊อตจิ-ธีรดนย์ ดิสระ ต้อนรับในค่ำคืนที่เราไปเยือน เขาเป็นทั้งบาร์เทนเดอร์ที่ผ่านประสบการณ์มาหลายร้าน เป็นทั้ง General Manager ของบาร์แห่งนี้ เขาเห็นที่นี่พร้อมเติร์กและก้องตั้งแต่ Alonetogether ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง

 

“ครั้งแรกที่ผมกับพี่เติร์กมาเห็นห้องนี้ คือเป็นห้องยาวๆ เปล่าๆ เลยครับ พี่เติร์กเขาคิดเรื่องการทำบาร์แจ๊สตลอดเวลาอยู่แล้ว เขาเคยทำงานที่นิวยอร์ก นิวยอร์กก็เป็นซีนแจ๊สที่ดี วันไหนที่เป็นวันหยุดของเขา เขาก็อยากไปนั่งฟังเพลง แต่เขาไม่อยากแค่ฟัง แต่อยากได้บาร์ที่เข้าไปนั่งดื่มได้จริงๆ บาร์นี้ก็เป็นที่ที่ตอบโจทย์ของเขา แล้วพอมาเจอที่นี่ เฮ้ย! ต่างคนต่างคิดภาพเลย บาร์ต้องยาวแบบนี้ มันต้องสวยแบบนี้ มองจากประตูเข้ามาไกลๆ เห็นวงดนตรีอยู่อีกฝั่ง

 

Alonetogether Bangkok

 

“เราอยากทำที่นี่ให้เป็นบาร์ที่ให้ความรู้สึกเชยๆ คำว่าเชยสำหรับผมคือสวยงามในยุคสมัยหนึ่งของมัน แต่เวลาผ่านไปความงามนั้นก็ไม่ได้เอาต์ ยังอยู่เหนือกาลเวลา เป็น Sustainability ในเรื่องความสวยงามและฟีลลิ่งของบางอย่างที่อยู่ในร้าน อย่างวอลเปเปอร์หรือบันไดก็เป็นของเดิมของที่นี่ ตอนที่เราเดินเข้ามา เราชี้กันเลย ตรงนี้ต้องเก็บไว้ อันนั้นต้องเอาไว้ เป็นสิ่งที่พี่เติร์กกับพี่ก้องเขาตั้งใจเลยว่าต้องเก็บไว้อย่างนี้ บอกกับผู้รับเหมาเลย คุณห้ามแตะนะ สิ่งใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามา เราก็พยายามทำทุกอย่างให้กลมกลืนไปด้วยกัน เช่น พื้นไม้”

 

Alonetogether Bangkok
Alonetogether Bangkok
Alonetogether Bangkok

 

หากยืนหน้าประตูทางเข้าและมองเข้ามาด้านใน เราอาจตัดสินด้วยตาว่าทางเดินตรงบาร์ช่างดูแคบ ลองนึกภาพลูกค้าเต็มร้าน เราจะปันพื้นที่กันนั่ง เราจะเดินสวนกันได้สะดวกไหม “ตอนที่ตัดสินใจทำบาร์นี้ เรียกว่าเราก็ลงพนันกับมันด้วยเหมือนกัน เราพยายามดีไซน์ให้ หนึ่ง พนักงานของเราทำงานได้ นี่เป็นหัวใจหลัก ถ้าออกแบบพื้นที่ให้เบียดเบียนพนักงาน สุดท้ายแล้วก็ไม่เฮลตี้ สมมติว่าลูกค้าเดินได้สะดวก แต่พนักงานก้มไม่ได้ ก็ไม่มีใครอยากทำงานกับเรา สอง คือออกแบบให้ลูกค้าสัญจรได้ด้วย ซึ่งพอทำออกมาจริง ทางเดินตรงบาร์ก็ไม่ได้แคบมาก”

 

ผมรู้สึกว่าด้วยบรรยากาศของบาร์แล้ว มันทำให้เกิด Intimacy หมายถึงเกิดความใกล้ชิด กระทบกันนิดๆ เป็นปฏิสัมพันธ์ของทั้งบาร์เทนเดอร์เองและของลูกค้าที่เดินผ่านกันไปมา เขาจะยิ้มให้กันง่ายขึ้น กระทบกันนิดหน่อย ก็ขอโทษกันได้ มันช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ ในแง่ของดีไซน์ เราต้องเริ่มจากฟังก์ชันก่อน จากนั้นก็มาที่เรื่องความสวยงาม” เมื่อลอบสังเกต เราเห็นลูกค้าหลายคนที่แปลกหน้าต่อกัน ยิ้มให้กันตรงทางเดินแคบนั้น เกิดปฏิสัมพันธ์เล็กๆ อย่างที่ชายหนุ่มว่าจริงๆ

 

The Music

เลื่อนดูเพจเฟซบุ๊กของ Alonetogether ก่อนไปเยือน เห็นรายชื่อนักร้องและนักดนตรีที่จะขึ้นเล่นสดคืนต่อคืน ก๊อตจิบอกว่าแบนด์ที่มาเล่นที่นี่ผ่านการคัดสรรจากคิวเรเตอร์ที่คร่ำหวอดในแวดวงดนตรีแจ๊สมาแล้ว “เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพิ่งมีนักร้องจากนิวออร์ลีนส์บินมาร้องให้ที่บาร์ของเราโดยเฉพาะเลยครับ เราตั้งใจทำให้ที่นี่เป็นแจ๊สเพลสจริงๆ แต่คำนี้ถ้าพูดออกไปคนอาจเข้าใจกันว่า อ๋อ… เป็นที่ที่คนมาดื่มแล้วมีเพลงแจ๊สฟัง แต่เราตั้งใจให้เป็นแม้กระทั่งว่านักดนตรีที่มาเล่นที่นี่ ต้องรู้สึกอยากกลับมาเล่นอีก อยากให้เขารู้สึกว่าที่นี่สนุก เรามีเครื่องเสียงที่ดีให้

 

Alonetogether Bangkok

 

แจ๊สแบนด์จะขึ้นเล่นทุกคืนวันพุธ พฤหัสบดี ศุกร์ และเสาร์ ตั้งแต่เวลา 21.30-00.00 น. คืนนั้นของเราเป็นแบนด์เครื่องดนตรี 4 ชิ้น ประกอบด้วยเปียโน ทรัมเป็ต กีตาร์เบส และกลอง นำวงโดย อาจารย์คม วงษ์สวัสดิ์ นักดนตรีแจ๊สและนักเปียโนที่เป็นที่ยอมรับคนหนึ่งของไทย และ Stuart Hawkins นักทรัมเป็ตชาวออสเตรเลียผู้โลดแล่นอยู่ในวงการแจ๊สมานาน อีกทั้ง ศิริวัฒน์ เปลี่ยนสันเทียะ ยืนตำแหน่งกีตาร์เบส และ Shawn Kelly นั่งตำแหน่งกลอง “ถามว่าเราโฟกัสอย่างไหนมากกว่ากัน ดริงก์เราก็โฟกัสครับ แต่ดนตรีเป็นเรื่องที่ยูนิเวอร์แซลกว่า มีมูฟเมนต์มากกว่า เครื่องดื่มเรามียืนพื้นไว้ แต่ดนตรีเรามีวงทั้งแบบดูโอและแบนด์สับเปลี่ยนกันไปทุกสัปดาห์” 

 

Alonetogether Bangkok
Alonetogether Bangkok

แจ๊สแบนด์จะขึ้นเล่นทุกคืนวันพุธ พฤหัสบดี ศุกร์ และเสาร์ ตั้งแต่เวลา 21.30-00.00 น.

 

The Drinks

เข้าสู่ยุคสมัยที่บาร์ไหนๆ ต้องสร้างสรรค์ซิกเนเจอร์ดริงก์เป็นของตนเอง ซึ่งดีสำหรับลูกค้าที่จะมีตัวเลือกในการดื่มมากขึ้น แต่กับ Alonetogether การหยิบเอาคลาสสิกค็อกเทลมาพิจารณา ลงรายละเอียด และใส่ความพิถีพิถันก็ออกจะเป็นเรื่องที่น่าสนุกอยู่ไม่น้อย

 

Alonetogether Bangkok

ก้อง-อนุภาส เปรมานุวัติ

 

“เรามีแต่คลาสสิกค็อกเทลก็จริง แต่ไม่ใช่คลาสสิกบายเดอะบุ๊ก แต่เป็นคลาสสิกที่มีความเป็นตัวเรา มีกลิ่นอายของ Sugar Ray มีความเป็นพี่ก้อง Ku Bar อยู่ในนั้น ค็อกเทลของพี่ก้องผสานกันจากหลายอย่าง ตั้งแต่วิธีคิดเลยว่าทำไมถึงเลือกดริงก์นี้มา และเราจะปรับดริงก์นี้ให้เป็นตัวเราได้อย่างไร”

 

ก๊อตจิยกตัวอย่างแก้วแรก Frozen Screwdriver (380 บาท) “เป็นตัวที่ป๊อปปูลาร์มากในร้านของเรา Screwdriver เป็นค็อกเทลที่โดนดูถูก เพราะเบสคือวอดก้ากับน้ำส้มแค่นั้น ใครไปสั่งบาร์เทนเดอร์ก็ไม่อยากทำ คือมันง่ายจนถูกมองข้ามหรือละเลยไป พี่ก้องก็เลยหยิบกลับมาใหม่ เอาที่คนเขาดูถูก ที่เขามองว่าไม่อร่อย หรือไม่มีทางทำให้อร่อยได้ มาทำให้อร่อย ที่ตัวนี้คนเขาดูถูกเพราะอะไร เพราะเขาใช้น้ำส้มกล่อง น้ำส้มผสม แต่ของเราใช้ส้มคั้นสดจาก 3 สายพันธุ์ คือส้มโอ ส้มเช้ง และส้มซันคิสต์ มาเบลนด์ให้เป็นน้ำส้มตามที่เราต้องการ เอาไปแช่แข็ง ก่อนเสิร์ฟก็เอามาปั่น คล้ายๆ Slurpee Slushy Cocktail” และนี่ก็เป็นแก้วที่เราดื่มเกลี้ยง ในส่วนผสมธรรมดาคือความลงตัวของสัดส่วนและรสชาติที่พิเศษตั้งแต่แรกจิบ หอมกลิ่นมะลิอ่อนๆ ที่ตกแต่งด้วยดอกสดมาในแก้วด้วย

 

Alonetogether Bangkok

Frozen Screwdriver (380 บาท) 

 

อีกหนึ่งค็อกเทลที่เข้าข่ายง่ายและธรรมดาเสียจนถูกมองข้ามคือ Long Island Iced Tea ซึ่งที่นี่นำมาทวิสต์เป็น Long Island Thai Tea (380 บาท) ให้มีมิติใหม่ “ตัวนี้ก็ตกอยู่ในบัญญัติเดียวกันคือ ธรรมดา โดนดูถูก เป็นค็อกเทลประเภทที่สั่งมาเพื่อที่จะได้ดื่มเหล้าเยอะๆ เมาเร็วๆ เราก็เอามาทำใหม่ เราทำตัวชาขึ้นมาเอง เป็นชาไทย ปกติทั่วไปจะท็อปด้วยโคล่า แต่เราเอาโคล่ามาทำให้ใส จึงเป็น Long Island Thai Tea ที่สีค่อนข้างใส ไม่ดำเหมือนโคล่า”

 

Alonetogether Bangkok

Long Island Thai Tea (380 บาท)

 

ขณะที่ Aviation (380 บาท) ไม่ได้ตกอยู่ในคำครหาเดียวกัน แต่ก็เป็นค็อกเทลที่เคยถูกหลงลืมไป “Aviation เพิ่งกลับมาอยู่ในมูฟเมนต์ของคนดื่มค็อกเทลได้ปีสองปีที่แล้วเองครับ ความโดดเด่นคือค็อกเทลออกเป็นสีฟ้าๆ ติดม่วงนิดๆ เพราะใช้ไวโอเลตลิเคียว แต่พี่ก้องทำไวโอเลตลิเคียวขึ้นมาเองเลย” แก้วนี้ย้ำภาพคลาสสิกด้วยการใส่ลูกเชอร์รีลงไปในก้นแก้ว หวาน สดชื่น สมกับเป็นรีเฟรสชิ่งค็อกเทล 

 

Alonetogether Bangkok

Aviation (380 บาท)

 

ก๊อตจิแนะนำคลาสสิกค็อกเทลอีกหนึ่งแก้วสุดท้าย Martini (420 บาท) ซึ่งเป็นแก้วที่เจ้าตัวชอบ “มาร์ตินีเป็นค็อกเทลที่ส่วนผสมไม่เยอะ คือเบสจินและเวอร์มุธ แต่ทำอย่างไรให้สองส่วนผสมนี้เข้ากันได้อย่างอร่อย เป็นค็อกเทลที่ดูง่ายแต่ทำออกมาให้อร่อยน่ะยากครับ มาร์ตินีที่เรารู้กัน ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เหมือนที่เจมส์ บอนด์ดื่ม” เรานึกภาพสายลับรหัส 007 กับแก้วมาร์ตินีของเขาออกทันที ส่วนแก้วที่เสิร์ฟมานี้เคียงมาด้วยโอลีฟและมะกอกไทยฝานบาง 

 

Alonetogether Bangkok

Martini (420 บาท)

 

เราย้อนกลับไปถามถึงชื่อ Alonetogether มีความหมายแฝงอะไรที่มากกว่าการหยิบยืมชื่อเพลงมาหรือไม่

 

“ตอนคิดชื่อบาร์ก็ดีเบตกันพอสมควร สุดท้ายก็ลงที่ชื่อนี้ เรามาบาร์ ไม่จำเป็นว่าเราต้องมีเพื่อนมาด้วยเสมอไป เรามาคนเดียวได้ Alone ได้ แต่พอเรามานั่ง เราไม่ได้อยู่คนเดียวแล้ว หรือแม้บาร์จะไม่มีลูกค้าอื่นเลย แต่คุณก็ยังมีบาร์เทนเดอร์ ชื่อนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนตีความครับ เหมือนเราฟังเพลงแจ๊สหรือดูศิลปะที่เป็นปลายเปิดว่าจะคิดอย่างไรกับมัน”

 

คุณชอบเพลงแจ๊ส คุณคิดถึงคลาสสิกค็อกเทล อย่ากังวลหากต้องไปเพียงลำพัง ที่ Alonetogether คุณอาจได้เจอเพื่อนใหม่ที่มาคนเดียวเช่นกัน ในความโดดเดี่ยวนั้นจะไม่มีใครเดียวดาย

 

Alonetogether Bangkok

Address: ซอยสุขุมวิท 31 (ซอยสวัสดี) กรุงเทพฯ

Open: 18.00-02.00 น.

Contact: 0 2163 4778 

 

ขอบคุณเรื่องราวดีๆจาก thestandard ครับ

ขอบคุณร้าน Alonetogether Bangkok ที่ไว้ใจใช้ตู้แช่จากทางร้านเดอะ เมเปิ้ลครับ ^_^

Visitors: 88,979